โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รักษาอย่างไรดี

411

สาวๆ หลายท่านคงเคยมีปัญหากับการใส่ต่างหูแล้วเกิดอาการคัน บางคนเกาจะเป็นแผล มีน้ำหนอง บางคนไม่สามารถใส่นาฬิกาที่เป็นสายหนังได้ เมื่อใส่แล้วมีผื่นแดง คัน ขึ้นบริเวณข้อมือ อาการคันในลักษณะนี้ไม่ใช่อาการคันโดยทั่วไปแล้นะคะ ปัญหาเหล่านี้อาจแสดงถึง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่เกิดขึ้นกับผิวหนังของเรา อาการแพ้ชนิดนี้ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่เป็นโรคที่น่ารำคาญไม่น้อยเลยนะคะ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Allergic Skin Disease) เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองกับสิ่งเร้าไวกว่าปกติ อาการโดยทั่วไป คือ อาการผิวแห้ง คันได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า มืผื่นแดง บริเวณพบบ่อยคือ ข้อพับแขน ขา และคอ อาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลามีเหงื่อออก หากเกิดอาการเรื้อรัง ผิวหนังจะเป็นรอยคล้ำ และหนา อาการคันที่เกิดขึ้นอยู่ประจำ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคชนิดนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่การมีแผลตามผิวหนังอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียเป็นตุ่มหนอง หรือเชื้อไวรัสเป็นหูดได้ง่ายขึ้น ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้สามารถแพร่กระจายให้กับคนรอบข้างๆได้เช่นกัน โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ที่พบบ่อยได้แก่ ลมพิษ ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ถ้าเกิดในเด็กก็มักพบที่บริเวณใบหน้า ที่แก้ม

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถรักษาได้ด้วยการปฏิบัติตน เช่น

1. หลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น

  • การดูแลผิวหนัง ควรเลือกใช้สบู่ หรือ ครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน ไม่ทำลายสารให้ความชุ่มชื่นแกผิวหนัง และไม่ควรอาบน้ำร้อนจนเกินไป อาจทำให้ผิวหนังแล้วคัน
  • ผงซักฟอก ควรเลือกใช้ชนิดที่อ่อนโยน อย่าง น้ำยาซักผ้าเด็ก และควรล้างน้ำให้สะอาดหมดคราบตกค้าง
  • เสื้อผ้า ควรใส่ผ้าเนื้อนุ่ม โปร่ง ระบายอากาศได้ดี ไม่ควรใช้ผ้าขนสัตว์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มีเหงือออกมากๆ อาจทำให้อับชื้นซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดอาการคัน
  • อาหาร บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น นม ขนมปัง อาหารทะเล ถั่ว ไรฝุ่น อาหารเสริม ช็อคโกแลต

2. ควรตัดเล็บให้สั้นและไม่ควรเกาผื่น อาจทำให้ผิวหนังอักเสบกำเริบมากขึ้น และหากมีอาการคันควารรับประทานยาต้านฮีสตามีน เพื่อลดอาการคัน

3. ควรใช้สารที่ให้ความชุ่มชื่นทาผิวหนัง ควรเป็นโลชั่นหรือครีมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและสารกันเสีย เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น การทาโลชั่นช่วยทำให้ผิวไม่แห้งตึง แต่ไม่ควรทาให้หนาจนรู้สึกเหนอะหนะ การทาโลชั่นที่ให้ผลดีคือ ทาหลังจากอาบน้ำภายใน 3 นาที

4. การทายาสเตียรอยด์ ช่วยลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ซึ่งยากลุ่มนี้ควรได้รับคำแนะนำการใช้จากแพทย์และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เพื่อลดอาการข้างเคียงจากยา เช่นทำให้ผิวบาง เส้นเลือดฝอยแตก ปัจจุบันมีกลุ่มยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ทาโครลิมัส(Tacrolimus) และพิเมอโครคิมัส (Pimecrokimus) แต่มีราคาค่อนข้างแพงและต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น

5. การรักษาด้วยวิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลต (Phototherapy) ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการทานยาสเตียรอยด์ ทานยากดภูมิคุ้มกัน มักนำมาใช้ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง เป็นผื่นบริเวณกว้าง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธือื่นๆ แล้ว

การดูแลตนเองและปฎิบัติตนให้ถูกต้องกับโรคที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่จำเป็น การ ถู ขัด เกา บริเวณที่เป็นผื่น หรือการใช้สารเคมีแรงๆ อย่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพราะคิดว่าทำให้ผื่นหายเร็ว กลับเป็นการทำร้ายผิวให้อักเสบมากขึ้น นอกจากนี้การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการทำจิตใจให้เบิกบาน ลดภาวะความเครียด เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราเองได้เป็นอย่างดี และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆจะดีที่สุดคะ