มะเร็งเม็ดเลือดขาว วิธีป้องกันและรักษา

441

เรามาทำความรู้จัก มะเร็งเม็ดเลือดขาว ด้วยการรู้จักองค์ประกอบของเลือดกันก่อนดีกว่าคะ เลือดประกอบด้วยสองส่วนคือ น้ำเลือดและเม็ดเลือด เม็ดเลือดมีอยู่ 3 ชนิดคือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ถูกสร้างจากไขกระดูก เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่นำออกซิเจนไปญยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้สร้างพลังงาน เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ และเกร็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยทำให้เลือดหยุดไหล

มะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เป็นมะเร็งที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเซล์เม็ดเลือดขาวเกิดมากกว่าปกติ ส่งผลให้ระบบการสร้างเม็ดเลือดผิดปกติตามมาด้วย เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดจะถูกสร้างน้อยลง เมื่อผู้ป่วยมีเม็ดเลือดแดงน้อยลง ผู้ป่วยมีอาการโลหิตจาง หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เมื่อมีเกล็ดเลือดน้อยลง ทำให้เกิดรอยจ้ำเลือด เลือดไหลไม่หยุด และเมื่อมีเม็ดเลือดขาวปกติน้อย จะทำให้ติดเชื้อง่าย มีไข้สูง เป็นๆหายๆ หนาวสั่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

เราสามารถแบ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน (acute leukemia) มีอาการรุนแรงแสดงออกมาไม่เกิน 1 เดือน มักเกิดขึ้นในเด็ก ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันทีมิฉะนั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้ และ ชนิดเรื้อรั้ง (chronic leukemia) อาการจะค่อยๆดำเนินไป หลังจากนั้นอวัยวะต่างๆก็เริ่มเสื่อมลง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่

การแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวนั้น ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่พอทราบปัจจัยที่อาจก่อโรคนี้ได้ เช่น การได้รับรังสี, ความผิดปกติของโคโมรโซม, ได้รับเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเฮชทีแอลวี (HTLV-1)โรคนี้มักไม่แสดงอาการในช่วงปีต้นๆ ซึ่งเราจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจดูลักษณะเม็ดเลือด (CBC) ตรวจไขกระดูก หรือตรวจพบอาการตับ ม้าม หรือต่อมน้ำเหลืองโต

การรักษาหลักของ มะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) การฉายแสง (radiotherapy) และการปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplantation) โดยใช้สเต็มเซลล์ที่อยู่ในเลือดหรือไขกระดูกของผู้อื่น ไม่สามารถใช้ของผู้ป่วยเองได้ เนื่องจากมีโอกาสปนเปื้อนเซลล์มะเร็งสูง วิธีนี้จะได้ผลดีในกลุ่มที่มีภาวะดื้อต่อยาเคมีบำบัด และกลุ่มที่กลับมาเป็นโรคซ้ำ

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นยากมาก เราทำได้เพียงรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคแทรกซ้อนให้หาย และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกเท่านั้นเอง ดังนั้นการดูแลตัวเองในขณะที่รับการรักษาและหลังจากรักษาหายแล้ว มีความจำเป็นมาก เรามีวิธีง่ายๆแต่มากด้วยประสิทธิภาพมาแนะนำคะ อาทิ

  • รักษาความสะอาดส่วนต่างๆของร่างกาย เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อสารมะเร็ง เช่น เนื้อสัตว์ย่างจนไหม้ หรือทอดในน้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำ อาหารที่ใช้สารฟอกขาว อย่างถั่วงอก ขิงฝอย อาหารที่สารเร่งเนื้อแดง เช่น แหนม อาหารที่เก็บไว้นานและมีความชื้นจนเกิดเชื้อรา เช่น ถั่วลิสง สารตะกั่วในอาหารกระป๋อง เครื่องดื่มแอกฮอล์ และอาหารที่มีไขมันสูง
  • รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเพราะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซพิษ ควันบุหรี่ ควันรถยนตร์ ควันธูป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาและเครื่องสำอางบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาย้อมผม สีที่ผสมในลิปสติก
  • ควรรับประทานอาหารสด ใหม่ สุก และสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้สารเคมีที่อยู่ในร่างกายถูกขับออกไป
  • งดสูบบุหรี่ ทราบไหมคะว่าบุหรี่เป็นแหล่งรวมสารก่อมะเร็งมากที่สุดถึง 42 ชนิด
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนให้เพียงพอ

การดูแลใส่ใจกับสุขภาพร่างกายนั้นเป็นเรื่องดีคะ แต่อย่าลืมดูแลสุขภาพของจิตใจตนเองด้วยนะคะ อย่าท้อแท้ สิ้นหวัง เมื่อยามเจ็บป่วย ต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง พร้อมสู้กับโรคร้าย ทำจิตใจให้ร่าเริง และพร้อมที่จะผ่านเรื่องราวต่างๆไปอย่างคนที่มีสติคะ กายพร้อม ใจพร้อม อะไรๆก็ผ่านไปได้ด้วยดีนะคะ