แกงเลียง อาหารช่วยรักษาโรค

634

เคยได้ยินคำโบราณกันไหมคะว่า หากอยากให้มีน้ำนมมากให้รับประทาน แกงเลียง ซึ่งก็คุณแม่ส่วนมากก็จะทำตามๆกันมาและเห็นผลที่ชัดเจนคะ สำหรับเมนูแกงเลียงนั้นสามารถใส่ผักได้หลากหลาย และนิยมใส่เนื้อสัตว์เป็นกุ้งสดหรือปลาแห้งก็ได้คะ

แกงเลียง

แกงเลียง เป็นอาหารบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด ขับของเสีย ส่วนประกอบของแกงเลียง มีผักหลายๆชนิด เช่น บวบ ข้าวโพดอ่อน ฟักทอง เห็ดฟาง หัวปลี ใบแมงลัก ส่วนเนื้อสัตว์ก็จะเป็นกุ้งแม่น้ำ เครื่องแกงสำหรับทำแกงเลียงมีส่วนประกอบอันได้แก่ กะปิ กุ้งแห้ง หอมแดง พริกไทยเม็ด น้ำปลา เริ่มต้นการทำแกงด้วยการโขลกพริกแกงกันก่อนคะ โขลกรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปละลายในน้ำที่ต้มอยู่ในหม้อ หลังจากนั้นให้ใส่ผักลงไปยกเว้นใบแมงลัก ปรุงรสด้วยน้ำปลา และตามด้วยกุ้ง เมื่อกุ้งสุกแล้วใส่ใบแมงลักแล้วปิดไฟยกลงได้เลย รับประทานร้อนก็จะทำให้รู้สึกสดชื่น

แกงเลียงหนึ่งหม้ออัดแน่นไปด้วยสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เช่น พริกไทย แก้ลม จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในกระเพาะ แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ทำให้น้ำลายออกมามาก ช่วยให้น้ำย่อยมากขึ้น, หอมแดง ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้หวัด คัดจมูก แก้ไอ ขับเสมหะทำให้เจริญอาหาร, บวบ อุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสเฟตและเส้นใยอาหาร, น้ำเต้า มีเบต้าแคโรทีนสูงมาก, ฟักทอง อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 บี 2 บี 3 บี 5 บี 6 วิตามินซี วิตามินเอ แคลเซียมโพแทสเซียม เหล็ก สังกะสี มีเส้นใยอาหารมากแต่ให้แคลอรี่ที่ต่ำกินแล้วจะทำให้อิ่มได้นานขึ้น

ใบแมงลัก ถือว่าเป็นเครื่องเทศที่มีน้ำมันหอมระเหยมีสรรพคุณ ช่วยขับลม เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ขับลมในลำไส้ อาหารไม่ย่อย แก้คลื่นไส้ มีผลการวิจัยพบว่าใบแมงลักมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบน้ำมันของมันยังมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ยิ่งกว่านั้นใบแมงลักอุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ และเกลือแร่ อย่าง วิตามินซี แคลเซียมโพแทสเซียมรวมถึงยังมีกากใยอาหารสูง ใบแมงลักยังใช้เป็นตัวยาหลายตำรับในการแพทย์แผนไทยบางตำราเรียกว่ายาประสะแมงลัก

ส่วนคุณแม่ที่เน้นเรื่องการเพิ่มน้ำนมในช่วงให้นมบุตรก็ควรรับประทานแกงเลียงหัวปลี ในหัวปลีอัดแน่นไปด้วยเส้นใยอาหาร แคลเซียม วิตามินซี ฟอสฟอรัสซึ่งมีนหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย มีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา บำรุงโลหิต และมีแคลเซียมสูงช่วยในป้องกันกระดูกพรุน

ความชาญฉลาดของคนไทยโบราณยังแนะนำวิธีการรับประทานแกงเลียงในช่วงฤดูต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายไว้อีกด้วยคะ คือ

ฤดูร้อน เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนจัด จึงควรเน้นผักที่มีฤทธิ์เย็น อย่าง แตงกวา ข้าวโพดอ่อน ตำลึง บวบหอม บวบเหลี่ยม แตงโมอ่อน มะระหวาน  ไม่ควรทำรสชาติให้เผ็ดจัด จึงไม่ควรใส่พริกไทย ใบแมงลักเยอะ จะยิ่งทำร่างกายร้อนมากยิ่งขึ้น

ฤดูฝน เป็นช่วงที่ฝนตก มีอากาศชื้น คนมักไม่สบายบ่อยๆ และมักมีอาการท้องอืดได้ง่าย จึงควรเลือกผักที่มีฤทธิ์ร้อน  อย่าง ต้นกระทือ ข้าวโพดอ่อน ผักเมี่ยง ผักหวานป่า บวมหอม ฟักท้อง และไม่ควรใช้ผักฤทธิ์เย็น อย่าง ฟัก เต้าหู้ น้ำเต้า แตงกวา ควรเพิ่มปริมาณความเผ็ดร้อนของพริกไทยและใบแมงลักในฤดูนี้ จะได้ทำให้ร่างกายอบอุ่น ท้องอุ่นป้องกันอาการท้องอืด

ฤดูหนาว เป็นช่วงที่อุณหภูมิต่ำ อากาศเย็น ทำให้ท้องผูกได้ง่าย จึงควรเลือกผักที่ใส่ในแกงเลียงที่มีกากใยอาหารสูงลงไป เช่น ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน ฟักทอง และไม่ควรใส่ผักที่มีฤทธิ์เย็น เช่น บวบ ฟักเขียว น้ำเต้า แตงกวา ในส่วนของที่ทำให้มีร้อนเผ็ดร้อน อย่าง พริกไทยและใบแมงลัก ไม่ควรใส่ในปริมาณมาก

แกงเลียง จึงเป็นอีกหนึ่งเมนูที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาดเพราะอุดมไปด้วยสมุนไพรต่างๆและผักเป็นจำนวนมากเป็นอาหารที่กินอิ่มท้อง มีกากใยเยอะ ทำให้ไม่อ้วนด้วยนะคะ